เหรียญหลวงพ่อปากแดงรุ่น ๑๐๘ ปี เป็นเหรียญที่ออกในวาระครบ ๑๐๘ ปีในการตั้งวัด โดยจำลองจากหลวงพ่อปากแดง พระพุทธรูปปางสมาธิ โลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว สูง ๑ เมตร ประดิษฐานเป็นพระประธานในโบสถ์ของวัด วัดพราหมณี หรือ วัดหลวงพ่อปากแดง ตั้งอยู่ที่ ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก เหตุที่ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อปากแดง" มาจากที่บริเวณปาก(โอษฐ-โอษฐ์.)ของหลวงพ่อมีสีแดงสด และในที่วันครบ ๑๐๘ ปี ได้มีการจัดสร้าง ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อป่ากแดง เหรียญรุ่นดังกล่าวจึงหมดจากวัดอย่างรวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่น่านใจ คือ คตินิยมในการเฉลิมพระนามพระพุทธรูป หรือการตั้งชื่อพระพุทธรูป ซึ่งโบราณาจารย์มีหลักดังนี้ ๑.เฉลิมพระนามตามพระนามพระพุทธเจ้า เช่น พระพุทธโลกนาถ พระพุทธโคดม พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ เป็นต้น ๒.เฉลิมพระนามตามลักษณะและวัสดุที่จัดสร้างพระพุทธรูป เช่น พระแก่นจันทน์ (สร้างจากไม้แก่นจันทน์) พระแก้วมรกต (สร้างจากหยกสีเขียว) พระแก้วดอนเต้า (ลำปาง สร้างจากหยกสีเขียวเข้ม) หลวงพ่อศิลา (สลักจากหิน) หลวงพ่อทองคำ (สร้างจากโลหะทองคำทั้งองค์) เป็นต้น ๓.เฉลิมพระนามตามลักษณะเด่นบางประการของพระพุทธรูป องค์นั้น เช่น พระอัฏฐารส (พระสูง ๑๘ ศอก) พระเจ้าแข้งคม (วัดศรีเกิดเชียงใหม่ พระชงฆ์ ๒ ข้างเป็นสันคม) หรือตั้งตามขนาดของพระพุทธรูป เช่น หลวงพ่อโต (พระพุทธรูปมีลักษณะองค์ใหญ่โต) หรือตามสีของโลหะ เช่น หลวงพ่อดำ (พระพุทธรูปสีดำ) หลวงพ่อขาว (พระพุทธรูปปูนปั้นสีขาว) เป็นต้น ๔.เฉลิมพระนามตามเทคนิคหรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นขณะการสร้าง เช่น พระเหลือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ พิษณุโลก ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ได้เฉลิมพระนามให้เป็นมงคลว่า พระเสสันตปฏิมากร หมายถึง พระที่หล่อจากเศษทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา แต่ชาวบ้านยังคงเรียกว่า พระเหลือ อยู่ดี ๕.เฉลิมพระนามเพื่อเป็นมงคลอนุสรณ์ แก่บุพการีชนหรือผู้สร้าง เช่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระพุทธรูป ๒ องค์ คือ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อุทิศถวายแด่รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ เป็นต้น ๖.เฉลิมพระนามตามพุทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ที่ประจักษ์แจ้ง เช่น พระเจ้าทันใจ เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้สร้างสำเร็จภายใน ๑ วัน อธิษฐานสิ่งใดจะได้ดังใจปรารถนาทันใจ เป็นต้น ๗.เฉลิมพระนามตามนามหรือลักษณะภูมิศาสตร์ของท้องที่ที่พบหรือประดิษฐาน เช่น หลวงพ่อวัดไร่ขิง นครปฐม หลวงพ่อวัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม หลวงพ่อโบสถ์น้อย พระอุโบสถน้อยวัดอมรินทราราม เป็นต้น ๘.เฉลิมพระนามตามปางที่สร้าง เช่น พระฉันสมอ (วัดอัปสรสวรรค์ ปางฉันสมอ) พระป่าเลไลยก์ (หลวงพ่อโต สุพรรณบุรี ปางป่าเลไลยก์) พระพุทธไสยาสน์ (ปางไสยาสน์) พระเจ้าเข้านิพพาน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก (ปางเข้าปรินิพพาน) ๙.เฉลิมพระนามอันเป็นมงคลนามเพื่อความเป็นสรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่การสักการบูชา ตามเห็นสมควร |